วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556
มมส.สืบสานวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านอีสานวิวัฒนาการปลาร้า
มหาสารคาม - ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งศิลปวัฒนธรรม “เทคโนโลยีการอาหาร สืบสานวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านอีสาน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 เพื่อให้นิสิตและบุคคลทั่วไป มีความรู้วัฒนธรรม ความเป็นมา และภูมิปัญญาการทำปลาร้าอีสาน เพื่อสืบทอดไปยังคนรุ่นหลัง
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ลานกิจกรรมตลาดน้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รำไพ เกณฑ์สาคู รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานเปิดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งศิลปวัฒนธรรม “เทคโนโลยีการอาหาร สืบสานวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านอีสาน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 จัดโดยภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ วัฒนธรรม ความเป็นมา และภูมิปัญญาการทำปลาร้าอีสาน และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนในเรื่องการทำปลาร้า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนปลาร้าหนองล่าม โรงงานปลาร้าโกสุม และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5
อีกทั้งเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอาหารอีสาน รณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงวัฒนธรรมอาหารอีสานและการรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณประโยชน์ ตลอดจนเป็นการให้บริการวิชาการแก่สังคม ส่งเสริมให้นิสิตได้มีโอกาสหารายได้และนำผลงานทางวิชาการที่ได้ศึกษามาเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ซึ่งโครงการนี้คาดหวังจะให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้รู้สึกเป็นส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านอีสาน รักษาเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ไว้สืบทอดให้คนรุ่นหลังต่อไป
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเส้นทาง..ปลาร้า ปลาร้ากับความมั่นคงทางอาหาร และอาหารพื้นบ้านอีสานจากปลาร้า มีการประกวดอาหารพื้นบ้านเพื่อสุขภาพเมนูที่มีปลาร้าเป็นส่วนประกอบ พร้อมทั้งการแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสานจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ที่มา: manageronline
วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556
ศรีสะเกษ - พบลูกวัวพฤติกรรมประหลาด ชอบขึ้นไปนอนบนเตียงของเจ้าของบ้าน เชื่อว่าสามีเจ้าของบ้านกลับชาติมาเกิด
ศรีสะเกษ - พบลูกวัวพฤติกรรมประหลาด ชอบขึ้นไปนอนบนเตียงของเจ้าของบ้าน เชื่อว่าสามีเจ้าของบ้านกลับชาติมาเกิด
วันที่ (14 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 103 บ้านบกพอก หมู่ที่ 3 ต.ห้วยทับทัน อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านปูนชั้นเดียว หลังจากได้รับแจ้งว่าที่บ้านดังกล่าวมีลูกวัวประหลาด มีพฤติกรรมที่แปลกจากลูกวัวตัวอื่น คือชอบเข้านอนในห้องนอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบขึ้นไปนอนบนที่นอนของเจ้าของบ้าน
เมื่อไปถึงพบกับนางนิตยา โสภา อายุ 33 ปี เจ้าของบ้าน พาไปดูลูกวัวตัวดังกล่าว ซึ่งมีสีแดง อายุ 5 เดือน ลักษณะก็เหมือนกับลูกวัวทั่วไปไม่มีสิ่งใดผิดแปลกหรือพิเศษออกไปจากวัวตัวอื่นๆ
นางนิตยาเล่าว่า ลูกวัวตัวนี้เป็นวัวตัวผู้ ชื่อ ฝน เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ถึงวันนี้ อายุก็ได้เกือบ 5 เดือนแล้ว เป็นลูกของแม่วัวชื่อลิลลี่ วันที่แม่ลิลลี่ตกลูกตัวนี้ออกมาฝนตกลงมาอย่างหนัก จึงได้ตั้งชื่อว่า “ฝน” ตั้งแต่เกิดมาก็มีลักษณะอาการเหมือนกับลูกวัวทั่วไป และเหมือนกับลูกของแม่ลิลลี่อีกสองตัวที่ออกมาก่อนหน้านี้ เจ้าฝนเป็นลูกตัวที่ 3 ของแม่ลิลลี่
หลังจากหย่านมแม่แล้ว ฝนก็กินหญ้ากินฟางตามปกติ ลักษณะและพฤติกรรมของวัวตัวนี้ไม่มีอะไรจะบ่งบอกว่าผิดปกติ หรือผิดจากธรรมชาติของวัวทั่วไป
นางนิตยาเล่าต่อไปอีกว่า แต่พอเมื่อประมาณ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมาเจ้าฝนชอบเข้ามาในบ้าน ไม่เข้ามาเฉยๆ ขึ้นไปบนเตียงนอน และนอนลงบนที่นอนหนุนหมอนเฉย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ไม่เคยมีวัวตัวไหนทำแบบนี้ให้เห็นมาก่อน ทั้งหมู่บ้านเพื่อนบ้านทุกคนก็เห็นมีแต่วัวตัวนี้ที่มีพฤติกรรมประหลาดนี้
นางนิตยายังเล่าด้วยว่า ตนมีสามีมาก่อน มีลูกด้วยกัน 2 คน คนโตอายุ 11 ขวบ คนเล็ก 7 ขวบ สามีได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาตั้งแต่วัวตัวนี้เข้ามาในบ้านและขึ้นไปนอนบนที่นอน เพื่อนบ้านบอกว่าเขาคือสามีของตนที่เสียชีวิตไปแล้วและได้มาเกิดเป็นลูกวัวตัวนี้ เมื่อเขาขึ้นไปบนเตียงแล้วเขาจะเดินไปล้มตัวลงนอนตรงที่สามีเคยนอนนั่นแหละ
ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องแปลก ลูกวัวตัวนี้น่าจะเป็นสามีของตนกลับชาติมาเกิด ตั้งแต่ลูกวัวตัวนี้เกิดมารู้สึกว่าตนมีโชค ถูกหวยบ่อยครั้ง จึงคิดว่าอาจจะเป็นพ่อของเด็กมาเกิดเพื่อช่วยเหลือตนกับลูกก็ได้
ที่มา:Manageronline
วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556
หนุ่มเรณูนครเจ๋ง! ลงทุนตั้งฟาร์มเลี้ยงตุ๊กแกป่า หลังขาดแคลน หาจับยาก แต่ตลาดมีตวามต้องการสูง เผยทำเงินหมุนเวียนแต่ละเดือนนับล้านบาท
นครพนม - หนุ่มเรณูนครเจ๋ง! ลงทุนตั้งฟาร์มเลี้ยงตุ๊กแกป่า หลังขาดแคลน หาจับยาก แต่ตลาดมีตวามต้องการสูง เผยทำเงินหมุนเวียนแต่ละเดือนนับล้านบาท
วานนี้(8 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนม ว่าขณะนี้อาชีพทำตุ๊กแกตากแห้งส่งออก ซึ่งเป็นอาชีพแปลก สร้างเม็ดเงินปีละไม่ต่ำปีละ 20-30 ล้านบาทมานานกว่า 20 ปี ขึ้นชื่อที่สุด คือ อ.นาหว้า ที่ทำกันมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเดิมชาวบ้านจะออกหาจับตุ๊กแกมาแปรรูปอบแห้งขายส่งขายที่จีน ไต้หวัน ไปปรุงเป็นยาโด๊ป ยาชูกำลัง ซึ่งมีโรงงานรับซื้อตุ๊กแกที่อบแห้ง ราคาตัวละ 30-80 บาทตามขนาด สร้างรายได้ให้ครอบครัวละ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันตุ๊กแกเริ่มหายาก จนมีผู้คิดค้นวิธีเลี้ยงเองจนประสบความสำเร็จ
นายชวลิต เรืองวัฒนา อายุ 43 ปี ชาวบ้านโคกสาย ต.เรณูนคร อ.เรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า หลังมีโอกาสได้รู้จักนายทุนผู้ค้าตุ๊กแกส่งออก เห็นว่าน่าจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มหาศาลในอนาคต เพราะศึกษาแล้วว่ามีคู่แข่งน้อย มีตลาดรองรับไม่อั้น เดิมตนเริ่มจากการรับซื้อตุ๊กแกจากชาวบ้านตัวละ 20-30 บาท ส่งขายต่อให้พ่อค้าที่ทำตุ๊กแกแปรรูปในบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จนกระทั่งพัฒนาต่อยอดรับซื้อตุ๊กแกสดส่งออกไปจีน แต่ปัจจุบันชาวบ้านจับมาขายได้น้อยมาก เพราะเริ่มขาดแคลน ขณะที่ตลาดมีความต้องการมาก
ล่าสุดจึงยอมลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงตุ๊กแก เพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของตุ๊กแก ขยายพันธุ์ และส่งป้อนตลาดให้เป็นธุรกิจครบวงจร และในอนาคตจะทำฟาร์มตุ๊กแส่งออก เป็นร้านอาหารเปิบพิสดารเมนูตุ๊กแก สำหรับประชาชน หรือนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเป้าหมาย คือ จีน เวียดนาม ได้เข้ามาศึกษาและเที่ยวชม พร้อมเปิบเมนูตุ๊กแก นำรายได้เข้าประเทศ สร้างรายได้แบบยั่งยืน
ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง แต่เชื่อว่าอนาคตจะสามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลาศึกษาความเหมาะสมก่อน และที่สำคัญการเลี้ยงตุ๊กแกต้องใช้สถานที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด รวมถึงอาหารจะต้องหาแมลงจากธรรมชาติ ซึ่งวางแผนไว้จะใช้พื้นที่ป่าทำการเลี้ยง
สำหรับวงจรชีวิตของตุ๊กแกจะขยายพันธุ์ช่วงหน้าร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน มีอายุยืน 4-5 ปี ออกไข่ตัวละ 10-15 ฟอง ใช้เวลาฟัก 2-3 เดือน โอกาสที่จะสูญพันธุ์จึงยากมาก เบื้องต้นได้ทดลองเลี้ยงประมาณ 1,000 ตัว ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี ก็ส่งขายได้ แต่ต้องปรับปรุงเรื่องสถานที่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด
นายกฤษดา สาครวงศ์ หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่านครพนม กล่าวว่า ธุรกิจค้าตุ๊กแกส่งออกมีการพัฒนาต่อยอดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 4-5 ปี จาก จ.นครพนม ที่เคยมีเพียงการแปรรูปส่งออก ก้เริ่มส่งตัวสด เพราะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง ห้สั่งซื้อจำนวนมากทุกปี
ล่าสุดในปี 2555 พบว่ามีผู้ประกอบการค้าตุ๊กแกสดประมาณ 5 ราย มูลค่าส่งออกกหว่า 150 ล้านบาท ถือเป็นอาชีพที่มีเงินหมุนเวียนสูงพอสมควร แต่ต้องขออนุญาตก่อนการส่งออก แจ้งผ่านกระบวนการตรวจสอบจากด่านตรวจสัตว์ป่านครพนม และศุลกากร เพื่อให้ถูกต้องตามขั้นตอน มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมต่ำ ซึ่งไม่ยุ่งยาก โดยในอนาคตจะหารือกับผู้ค้าตุ๊กแก เพื่อทดลองส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นธุรกิจสร้างรายได้
ส่วนปัญหาเรื่องสูญพันธุ์นั้นคงยาก เพราะโดยธรรมชาติของตุ๊กแก ในระยะเวลา 1 ปี จะจับตุ๊กแกได้ช่วงหน้าร้อนเท่านั้น ส่วนฤดูอื่นตุ๊กแกจะหลบซ่อนตัว ไม่ออกมาให้เห็น ทำให้มีโอกาสขยายพันธุ์ะเพิ่มประชากรตุ๊กแกได้ทุกปี ซึ่งในอนาคตมองว่าการค้าตุ๊กแกจะเป็นอาชีพสำคัญ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างมหาศาล
ที่มา: Manageronline
วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556
นครพนม - ปลาน้ำโขงทะลักตลาดสดนครพนม ตัวใหญ่กว่า 10 กิโลกรัม
นครพนม - ปลาน้ำโขงทะลักตลาดสดนครพนม ตัวใหญ่กว่า 10 กิโลกรัม แห่ชอปเป็นเมนูเด็ด พ่อค้าแม่ค้าปลาชี้ช่วงหน้าฝนน้ำโขงขึ้นสูง ชาวประมงจับได้มาก และได้แต่ปลาตัวใหญ่
วานนี้(5 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนมว่า ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนมมีปลาน้ำโขงสดตัวใหญ่หลากหลายชนิดมาวางจำหน่าย ทำให้บรรยากาศคึกคักมาก มีลูกค้าทั้งชาวบ้าน ข้าราชการมาหาซื้อไปทำเป็นเมนูเด็ด ตลอดจนร้านอาหารมาซื้อไปปรุงขาย ซึ่งมีทั้งซื้อยกตัวและเลือกเป็นชิ้นที่ชำแหละขายตามกำลังทรัพย์
นายชาญ ขันธิวัตร พ่อค้าขายปลาน้ำโขง กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนน้ำโขงขึ้นสูงและน้ำหลาก ชาวประมงในลำน้ำโขงจะจับปลาได้มาก และปลาที่จับได้จะตัวใหญ่มาก น้ำหนักตั้งแต่ 1-14 กิโลกรัม และปลาน้ำโขงที่ขึ้นชื่อในเรื่องความอร่อยมีหลายชนิด คือ ปลาไน ปลาโจ๊ก ปลาแข้ ปลาคัง
ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าปลาจะรับซื้อจากชาวประมงที่จับได้ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท และขายกิโลกรัมละ 150 บาท ปลาตัวใหญ่น้ำหนัก 10 กิโลกรัมขึ้นไป บรรดาร้านอาหารหรือโรงแรมจะมาซื้อยกตัวไปปรุงให้ลูกค้าบริโภค
ส่วนหนึ่งจะชำแหละเป็นชิ้น โดยมีลูกค้าเป็นชาวบ้าน ข้าราชการซื้อคนละ 1-2 กิโลกรัมนำไปปรุงอาหารบริโภคที่บ้าน และช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงกินปลาน้ำโขงในนครพนม ซึ่งราคาถือว่าถูกมากหากเทียบกับหน้าแล้ง
ที่มา: Manageronline
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)